*คดีหยุมหยิมหรือคดีมโนสาเร่
โดย อณัญลักษณ์ ชัชวาลย์
คดีหยุมหยิมหรือคดีมโนสาเร่ ฟ้องเองได้นะ
สวัสดีท่านพ่อแม่พี่น้องทั้งหลายที่มีปัญหาด้านกฎหมายหรือไม่มีก็ตาม แต่อยากมีความรู้ด้านกฎหมาย ไว้ประดับความรู้ หรือเอาไว้พูดคุยกัน “ในสภากาแฟ ” ล้อมวงกันเข้ามาเร็วๆ วันนี้มีคำว่า "หยุมหยิม” “หรือ คำว่า“ มโนสาเร่ ” มานำเสนอ ที่จริงผู้เขียนนำเอาประสบการณ์จริงมาเล่า ต่างหาก เพราะเห็นว่ามีคนมาขอปรึกษามากอีกเรื่องหนึ่ง ก่อนอื่นต้องมาทราบความหมายของคำว่า “ หยุมหยิม” ก่อนว่าแปลว่าอะไร เพราะคำนี้ไม่มีในตัวบทกฎหมายแต่ประการใด ผู้เขียนนำมาจากไหน เพื่อไม่ให้เสียเวลาเข้าเรื่องเลยนะ พวกท่านทั้งหลายเคยได้ยินคำว่า “ มโนสาเร่ ” หรือไม่ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายไว้ว่า “ มโนสาเร่ ” หมายถึง น. เรื่องเบ็ดเตล็ดหยุมหยิม ( คำโบราณ ) เรียกคดีเล็กน้อยว่า “ คดีมโนสาเร่ ”
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติ เรื่อง “ คดีมโนสาเร่ ” ไว้ในมาตรา 189 ถึงมาตรา 196
แต่เราๆท่านๆ มารู้เกี่ยวกับคดีนี้โดยสังเขปกันดีกว่า “ คดีมโนสาเร่ ” ที่แก้ไขครั้งล่าสุดปี พ.ศ.2546 มาตรา 189 บัญญัติว่า
(1) คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่เกินสามแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
(2) คดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกิน เดือนละสามหมื่นบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
บางคนยังสงสัยว่า “ คดีมโนสาเร่” คือคดีประเภทไหนเอย ขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ (1) คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสน บาท ก็คือ คดีใดๆก็ได้ที่มีทุนทรัพย์ที่ยื่นฟ้องต่อศาลไม่เกิน 300,000 บาท ( สามแสนบาท) เช่นในคดี กู้ยืมเงินซึ่งผู้ให้กู้ฟ้องผู้กู้ให้คืนเงินที่กู้ไป เพราะทวงถามอย่างไรก็ไม่ยอมใช้คืนเพราะว่าไม่มี หรืออาจจะเบี้ยวเพราะว่าต้องนำเงินไปให้ภรรยาน้อยก่อนก็ว่ากันไป ซึ่งถ้าจำนวนเงินที่กู้ยืมกันไปรวมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเบ็ดเสร็จแล้วไม่ เกินสามแสนบาทก็เป็น “ คดีมโนสาเร่ “ หรือผิดสัญญาบัตรเครดิต หรือผิดสัญญาเช่าซื้อ, เช่าทรัพย์ , ละเมิด, เรียกค่าเสียหาย หรือการฟ้องเรียกสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งได้) เช่น โทรทัศน์, วิทยุ, รถยนต์ ฯลฯ ฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ดังกล่าว ราคา ไม่เกินสามแสนบาท ให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย ถือว่าเป็น” คดีมโนสาเร่ “ หรือทรัพย์ที่เรียกร้องอาจจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้) เช่นฟ้องขอบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่เท่าไรก็ ว่ากันไป แต่ราคาไม่เกิน สามแสนบาท ถือว่าเป็นคดี “ คดีมโนสาเร่ ” เช่นกัน
(2) คดีที่ฟ้องขับไล่บุคคลใดๆออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสามหมื่นบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน, โรงเรือนพักอาศัย, อาคารสำนักงาน, อาคารเก็บสินค้า, ฯลฯ แต่มีเรื่องน่า แปลกแต่จริง คนบางเช่าบ้าน, เช่าที่ดินเขาแล้ว แต่พอถึงกำหนดชำระค่าเช่า กลับไม่ชำระค่าเช่าดังกล่าว ซะอย่างงั้น ทำให้เจ้าของผู้ให้เช่า ต้องฟ้องขับไล่กันให้วุ่ยวาย แถมฟ้องไปแล้วก็อาจได้แต่คำพิพากษาไปนอนกอดแทนก็เป็นไปได้ เพราะจำเลยไม่มีเงินชดใช้ให้ หรือไม่ก็ต้องรอไปบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่คำพิพากษาถึงทึ่สุด ถ้าเกิน 10 ปีแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอะไรที่จะพอบังคับได้ ก็ถือว่า เวรกรรมของโจทก์ก็แล้วกันนะ! อย่าคิดมาก เดี๋ยวไม่สบาย ? ผู้เขียนอยากจะบอกผู้อ่านอีกอย่างหนึ่งว่าการฟ้องคดี มิใช่ว่าฝ่ายชนะคดีแล้ว จะได้รับการชดใช้ฯ เสมอไป เพราะบางที่จำเลยก็ไม่มีทรัพย์สินอะไรจะให้ยึดหรือบังคับคดีได้นะจะบอกให้ ( ฉะนั้น ควรฟ้องจำเลยที่มีฐานะ จะได้มีเงินจ่ายโจทก์ อุ๊ย! มายช่ายอย่างนั้น ล้อเล่น ) ว่าแต่จำเลยประเภทนี้ แถวบ้านผู้เขียน เรียกพวกนี้ว่า “ พวกดื้อแพ่ง ” ทำให้โจทก์หรือผู้ให้เช่าได้รับเสียหาย แต่ทำให้ทนายความมีงานทำ มีเงินใช้ได้ทุกวัน (หรือเปล่า) ในปัจจุบันคดีจำพวกนี้ ถ้าคิดค่าเช่ากันไม่เกินเดือนละสามหมื่นบาท ก็เป็น “ คดีมโนสาเร่ ” เช่นเดียวกัน
เมื่อทราบความหมายและลักษณะของคดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องมาทราบว่า “ คดีมโนสาเร่ ” ต้องฟ้องที่ศาลไหน เพื่อไม่ให้เสียเวลามาเข้าเรื่องเลยดีกว่า “คดีมโนสาเร่ ” เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงฯ หรือศาลจังหวัดในกรณีที่จังหวัดนั้นไม่มีศาลแขวงฯ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าจะฟ้องศาลแขวงฯที่ไหน ก็ต้องมาดูว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4 กล่าวไว้ว่า
(1) คำฟ้องต้องเสนอต่อศาลที่จำเลย มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราช อาณาจักรหรือไม่ ” และ มาตรา 4 ทวิ ที่บัญญัติว่า “คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิอันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ”
กล่าวโดยสรุปก็คือ คำฟ้องคดีมโนสาเร่ ต้องฟ้องศาลแขวงฯ ที่จำเลยมีภูมิลำเนาตามบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย ตั้งอยู่ ส่วนศาลแขวงฯที่มูลคดีเกิด หมายถึงภูมิลำเนาที่ทำสัญญากัน ขอยกตัวอย่าง เช่น จำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มาทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ที่กรุงเทพฯ โดยมีทุนทรัพย์ที่กู้ยืมกัน ไม่เกิน 300,000 บาท จะเห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นภูมิลำเนาของจำเลย ส่วนกรุงเทพฯ เป็นที่ที่มูลคดีเกิดหรือสัญญากู้ยืมเกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าจำเลยผิดสัญญากู้ยืมดังกล่าว โจทก์สามารถจะนำคดีมาฟ้องได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลย หรือที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ซึ่งมูลคดีเกิดหรือที่ทำสัญญากันก็ได้
เมื่อทราบว่าจะนำคดีไปฟ้องที่ไหนแล้ว ท่านทั้งหลายก็คงสงสัยว่าจะฟ้องอย่างไรเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร การฟ้องก็ฟ้องได้ 2 แบบ คือ จ้างให้ทนายดำเนินการฟ้องให้เลย หรืออีกแบบไปฟ้องด้วยวาจาด้วยตนเองที่ศาลแขวงฯ ทั้งนี้ต้องนำพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการฟ้องด้วย โดยไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาลแขวงฯ นั้น ว่าต้องการฟ้องคดีส่วนแพ่งหรือคดีมโนสาเร่ ซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ไม่มีเงินจ้างทนายความ ( แต่ไม่ใช่อยากจนนะ! ) เจ้าหน้าที่ศาลโดยนิติกรประจำศาลจะดำเนินการให้ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ก็มี ดังนี้ค่าธรรมเนียมศาลเรื่องละ 200 บาท และค่านำหมายให้แก่จำเลยหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกต่างหาก แต่คงไม่เกิน 1,000 บาท(หนึ่งพันบาท) ต่อเรื่อง ส่วนการดำเนินคดีในชั้นพิจารณาก็เป็นไปโดยรวดเร็ว เช่นกัน กล่าวคือ
เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องแล้ว ศาลต้องนัดพิจารณาเพื่อไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงหรือประนีประนอมยอมความกัน เป็นอันดับแรกตามมาตรา 193 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า “ ในคดีมโนสาเร่ ให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาโดนเร็วและออกหมายเรียกไปยังจำเลย ในหมายนั้นให้จดแจ้งประเด็นแห่งคดีและจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่เรียกร้อง และข้อความว่าให้จำเลยมาศาลเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกัน และให้ศาลสั่งให้โจทก์มาศาลในวันนัดพิจารณานั้นด้วย
ในวันพิจารณา เมื่อโจทก์และจำเลยมาพร้อมกันแล้ว ให้ศาลไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในข้อที่ พิพาทนั้นก่อน
ถ้าคู่ความไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกันได้ และจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำให้การ ให้ศาลสอบถามคำให้การของจำเลย โดยจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือ หรือจะให้การด้วยวาจาก็ได้ ในกรณียื่นคำให้การเป็นหนังสือ ให้นำมาตรา 191 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีให้การด้วยวาจาให้ศาลบันทึกคำให้การรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นไว้ อ่านให้จำเลยฟังแล้วให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคสาม ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ และดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป โดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ”
ฉะนั้น เมื่อเป็น “ คดีหยุมหยิม” หรือ “ คดีมโนสาเร่” ดังนั้นแล้ว ท่านทั้งหลายที่มีคดีหรือมีญาติพี่น้องที่มีคดีประเภทที่กล่าวไว้ข้างต้น หรือทุนทรัพย์ที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น “ คดีมโนสาเร่” ซึ่งท่านทั้งหลายฯ ก็สามารถไปฟ้องคดีเองโดยใช้บริการจากศาลแขวงฯ ได้ ทั้งนี้เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและที่สำคัญประหยัดค่าใช้จ่าย และที่สำคัญที่สุดของที่สุดคือประหยัดเงินในกระเป๋าของท่านทั้งหลายด้วยนะสิ เขียนมาตั้งนาน หวังว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย นะจ๊ะ พบกันใหม่ฉบับ
ที่มา:http://www.consumerthai.org/old/compliant_board1/view.php?id=12672
นางอณัญลักษณ์ ชัชวาลย์
ทนายประจำศูนย์นิติศาสตร์
แหล่งข้อมูลการแก้ปัญหาหนี้ สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต
บทความที่ได้รับความนิยม
-
ทางออกของคนเป็นหนี้แล้วไม่รู้จะหาแหล่งรวมหนี้ได้ที่ไหนที่นี่เลยคับ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ให้บริการสินเชื่อสำหรับผู้ที่ประสบปัญหา...
-
การเจรจาต่อรองปิดบัญชีขอส่วนลด( Hair Cut ) สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือความแน่นอนในยอดเงินในการชำระหนี้ การโชว์เสต็ปครั้งนี้ผมมีภาพประกอบและเร...
-
เจ้าหนี้-ลูกหนี้ ควรรู้ไว้ ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย ลูกหนี้ร้องเรียนได้หากพบถูกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ 2558 ...
-
ประเมินสถานการณ์ทางการเงินของคุณ 1) ตรวจสอบทรัพย์สินของคุณ ขั้นตอนแรกในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนของสถานการณ์ท...
-
"นิยาม" ของคำว่า Hair-cut คือ การจ่ายชำระมูลหนี้ ที่เรามีค้างจ่ายไว้กับเจ้าหนี้ โดยมีข้อตกลงเจรจา เป็นการนำเสนอที่จะลดมูลหนี้ที...
วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น