บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บทสรุปการแก้ปัญหาหนี้

วิธีแก้ไขปัญหาหนี้
หลักการเบื้องต้นคือ

"จะต้องหยุดหมุนเงิน หยุดหาหนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่าโดยเด็ดขาด"และ
"จะต้องอยู่ให้ได้ด้วยเงินเดือนตัวเอง"

เงินเดือนเท่าไหร่ ก็ใช้จ่ายให้พอตลอดทั้งเดือน
ถ้ามีรายได้พิเศษก็ให้เก็บเป็นเงินสำรอง อย่าเอามารวมกับเงินเดือน
เพราะมันได้ไม่แน่ไม่นอน ถ้าเงินพิเศษ/โอที หายไป คราวนี้จะอยู่ไม่ได้กันจริงๆ

ปัญหาการเงิน ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน
ส่วนใหญ่จะมาจากรายได้ลดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม
ทำให้ต้องพยายามหมุนเงิน หาเงิน(กู้)จากที่อื่น เพื่อให้พอกับรายจ่าย
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
เพราะมันยิ่งทำให้ระบบการเงินแย่ลง และจะกลายเป็นคนที่มีหนี้สินมากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่ต้องทำมี 3 ข้อ คือ

1) จัดสรรรายได้
ทำตารางรายรับรายจ่ายของตนเองตลอดเดือน
ว่าเงินเดือนพอใช้หรือไม่ ตลอดเดือนต้องใช้อะไรบ้าง
เช่น มีค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าผ่อนชำระหนี้สินต่างๆ
เมื่อทำเสร็จแล้วก็ดูว่าทั้งเดือนใช้เท่าไหร่ เหลือเก็บออมหรือไม่ ติดลบหรือไม่
ถ้าไม่ทำตารางรายรับรายจ่ายก่อน
จะไม่รู้เลยว่าการเงินของเราเป็นอย่างไร
และควรจะเลือกวิธีใดในการแก้ปัญหาหนี้สิน

2.สำรวจดูภาระหนี้สินของตนเอง
ว่ามีอะไรบ้าง ทำตารางแบ่งแยกประเภทหนี้-จำนวนหนี้
แยกประเภทหนี้เป็นกลุ่มธนาคาร นอนแบงก์ หนี้นอกระบบ
จดรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ให้ครบ เรียงลำดับหนี้จากน้อยไปหามาก
เอาไว้ดูเวลาจะชำระหนี้สิน

3. ศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาหนี้ให้เข้าใจ แล้วก็เลือกใช้วิธีที่เหมาะกับตนเอง
วิธีแก้ไขปัญหาหนี้สินมี 3 วิธี
3.1
firstway out
การจ่ายขั้นต่ำเพื่อรักษาบัญชีและเครดิต
3.2 secondway out
การหยุดจ่ายทุกบัญชี เก็บเงินรอแฮร์คัต เจรจาชำระหนี้ครั้งเดียวเพื่อปิดบัญชีหนี้
3.3 thirdway out
การรวมหนี้หลายที่ไว้ที่เดียวกัน แล้วชำระที่เดียว
(3.3เป็นวิธีที่ไม่อยากให้ใช้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เพราะมันเป็นวิธีที่ทำให้หนี้กลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ซึ่งมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและใช้เวลาในการชำระหนี้นานขึ้น)

เวลาเลือกวิธีแก้ปัญหาหนี้อาจใช้หลายวิธีได้รวมกันก็ได้

วิธีที่ 1 FIRSTWAY OUT

การจ่ายขั้นต่ำ(อาจจะมากกว่าขั้นต่ำ)ตามปกติ
ถ้าคุณ มีหนี้2-3 บัญชี หนี้ไม่เยอะ
ก็อาจจะใช้วิธีจ่ายขั้นต่ำตามใบเรียกเก็บเงิน
หรือจ่ายให้มากกว่าขั้นต่ำสักเล็กน้อย
แล้วอย่าใช้บัตรนั้นไปรูดซื้อสินค้าหรือกดเงินสดออกมาใช้อีก
เอาบัตรออกจากกระเป๋าไปเลยไม่ต้องใช้มันอีก
วิธีนี้หนี้ก็หมดเช่นกัน รักษาเครดิตได้ แต่ใช้เวลานานหน่อย
แต่ขอย้ำจ่ายแล้วห้ามกดออกมาใช้อีกเป็นเด็ดขาด
เพราะถ้าทำแบบนั้นหนี้ไม่หมดแน่นอน มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

หากใครทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วไม่ติดลบก็สามารถใช้วิธีนี้ได้

เช่น
เงินเดือน 8000
จ่ายค่าเช่าบ้าน 2500+ค่าอาหาร 2500+
ค่าใช้จ่ายจิปาถะ 1000+ค่าบัตรเครดิต 1500
รวมรายจ่ายทั้งหมด 7500
(8000-7500 เหลือเก็บออม 500)

*เหมาะจะใช้วิธีที่ 1 จ่ายขั้นต่ำไปตามปกติ
เงินพิเศษ/โอทีถ้ามี ก็ฝากออมทรัพย์ไว้เผื่อฉุกเฉิน อย่าเอามาคิดรวมกับเงินเดือน
วิธีที่ 2 SECONDWAY OUT

การหยุดจ่ายทุกบัญชี เก็บเงินรอแฮร์คัต เจรจาชำระหนี้ครั้งเดียวเพื่อปิดบัญชีหนี้
เป็นการหยุดจ่ายชั่วคราว
ไม่ใช่ให้หยุดตลอดหรือหนีหนี้ไปเลย หากต้องการหนีหนี้ก็หนีไปเลยแล้วกัน 20 ปี

แต่ถ้าคุณเลือกใช้วิธีที่ถูกต้อง 3-5 ปี หนี้ก็หมดแล้ว
ลูกหนี้ต้องมีความรับผิดชอบในการชำระหนี้ที่ตัวเองก่อไว้ด้วย

--------------------------------------

การใช้วิธีนี้เป็นการหยุดจ่ายทุกบัญชี
(ยกเว้นรายการที่เป็นหนี้แบงก์ที่ใช้จ่ายเงินเดือนให้ กับ หนี้กองทุน ก.ย.ศ)
เพื่อตั้งหลักให้ตนเองจัดสรรรายรับรายจ่ายให้บัญชีเงินเดือนไม่ติดลบเก็บเงินได้
และพร้อมเมื่อใดก็ติดต่อไปยังเจ้าหนี้เพื่อเจรจาเรื่องยอดหนี้ที่ต้องชำระ
วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีหนี้เยอะมากๆ เรียกได้ว่าหมุนจ่ายจนหนี้ท่วมตัว
ยอดการจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนเกินรายได้ที่มีหรือสูงเป็นเท่าตัวของรายได้ที่มีอยู่
เช่น
เงินเดือน 8000 จ่ายค่าเช่าบ้าน 2500 ค่าอาหาร 2500 ค่าจิปาถะ 1500
จ่ายบัตรเครดิต 1000 จ่ายสินเชื่อ 1500 ผ่อนรถ 8000
รวมค่าใช้จ่าย 17000 (8000-17000 ติดลบ 9000 บาท ต่อเดือน)
ควรใช้ SECONDWAY OUT


----------------------------------

ใครเลือกใช้วิธีที่ 2
ก็ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมรับกับทุกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ดังนี้


1.หยุดจ่ายหนี้ต้องหยุดทุกรายการและหยุดตลอด อย่าหยุดบางแบงก์จ่ายบางแบงก์
(ยกเว้นรายการที่เป็นหนี้แบงก์ที่ใช้จ่ายเงินเดือนให้ กับ หนี้กองทุน ก.ย.ศ)
และอย่าหยุดบ้างจ่ายบ้าง เพราะจะเก็บเงินก้อนไม่ได้ ไม่มีประโยชน์เลย และนับอายุความไม่ได้ด้วย

2.ต้องบอกครอบครัวให้รู้ จะได้ไม่ตกใจ รู้ว่าเรากำลังจะทำอะไร ผลจะเป็นอย่างไร และเป็นการระวังไม่ให้มีใครไปหลอกเอาเงินจากทางครอบครัวของลูกหนี้ได้ด้วย

3.ต้องบอกที่ทำงาน( หัวหน้างาน ฝ่ายบุคคล คนที่ทำงานเกี่ยวข้องประสานงาน เพื่อน คนที่อาจถูกรบกวนจากการตามทวงหนี้ที่ไม่มีมารยาท คนที่อ้างชื่อไว้ในสมัคร) ให้รับรู้ไว้ บอกให้รู้ว่าเราจะทำอะไร และจะเกิดอะไรบ้างระหว่างที่เราหยุดรอจ่ายปิดหนี้ที่ละบัญชี ห้ามอาย/ไม่อยากให้คนรู้เรื่อง เพราะยังไงๆ ที่ทำงานต้องรู้เรื่องแน่ ให้รู้จากเราไปเลยว่าเราจะทำอะไร อย่าให้เขารู้แต่ว่าเราถูกทวงหนี้ ให้เขารู้ว่าเราจะจ่ายทีเดียวปิดบัญชีหนี้ไปเลย ไม่จ่ายทีละนิดแล้วหนี้ไม่หมดสักที ให้ที่ทำงานรู้ว่าเราจะทำอะไรและผลจะเป็นอย่างไรเลยดีกว่า แล้วก็ต้องรู้จักขอโทษและขอบคุณเพื่อนร่วมงานตามความเหมาะสม

4.จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายใหม่เพื่อดูว่าเมื่อเราหยุดจ่ายหนี้ทุกอย่างแล้ว เราเหลือเงินเท่าไหร่ เก็บออมไว้ ห้ามใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น เงินเดือน 15000 บาท ใช้จ่ายตลอดเดือน 10000 เหลือ 5000 ก็แยกเก็บไว้สัก สองบัญชี บัญชีจ่ายหนี้ 3500 และบัญชีสำรองเผื่อฉุกเฉิน 1500 อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้นแต่ละคนจะเก็บได้มากได้น้อยแล้วภาระครอบครัว สำหรับบัญชีจ่ายหนี้พอเก็บได้เป็นเงินก้อนใหญ่ก็ลองเจรจาแฮร์คัทดู ส่วนบัญชีสำรองเก็บไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินในครอบครัว พยายามหารายได้พิเศษเพิ่ม

5. หาความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ต่างๆ ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ นำไปใช้ให้ได้ และ เมื่อรู้แล้วจะได้ไม่ต้องกลัวรูปแบบการทวงหนี้และการข่มขู่ต่างๆ ที่มีสารพัดรูปแบบ

---------------------------------------------
สิ่งที่ต้องเจอแน่ๆเมื่อเลือกใช้วิธีนี้คือการโดนทวงหนี้ กับการเสียเครดิต
----------------------------------

ถ้าโดนทวงหนี้ก็รับมือไปตามเหตุการณ์
จะใช้วิธีการนิ่งๆเฉยๆ หรือโต้กลับแบบแรงๆก็แล้วแต่
ขอให้ตั้งสติไว้ว่า เราจะจ่ายเมื่อเราพร้อม เราจะไม่จ่ายให้คนที่ด่าหรือประจานเราเด็ดขาด
สามารถศึกษาวิธีรับมือพวกทวงหนี้ได้จากกระทู้นี้


------------------------------------------------

ส่วนการเสียเครดิตก็ไม่ต้องไปสนใจมันมาก
ถึงคุณจ่ายขั้นต่ำตามปกติ แต่ถ้าคุณมีหนี้หลายบัญชีก็เป็นการติดแบล็คลิสต์เหมือนกัน
คุณหยุดจ่ายวันนี้ วันใดที่คุณชำระหนี้หมดแล้วเก็บเงินรอเวลาสักนิด
เมื่อข้อมูลหายไปจากเครดิตบูโรเมื่อใด
คุณก็ทำธุรกรรมกับแบงก์(ที่คุณไม่เคยมีหนี้ค้างชำระ)ได้ตามเดิม
ถ้าวันนี้ยังไม่ดีไม่มีกินแล้วอนาคตมันจะดีได้ยังไง
คุณต้องทำวันนี้ให้ดีให้หมดหนี้ก่อนแล้วสิ่งดีๆในอนาคตมันจะมาเอง

-----------------------------------------------

การเจรจาขอชำระหนี้เพื่อปิดบัญชีหนี้ก็ทำได้ทุกระยะเมื่อคุณพร้อม/มีเงินพอ
(ส่วนใหญ่ต้องรอให้หนี้เน่าสัก 6 เดือนก่อน ถึงจะเจรจาขอลดยอดหนี้ได้)
ระหว่างที่หยุดอาจถูกชวนทำประนอมหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ไม่ต้องไปทำเก็บเงินไว้กับตัวดีกว่า
รอเจรจาแล้วจ่ายครั้งเดียวหมดหนี้ดีกว่า


-----------------------------------------------

เมื่อเลือกใช้วิธีนี้แล้วต้องพยายามเก็บเงินให้ได้มากที่สุดจะได้หมดหนี้เร็วๆ
หากหยุดแล้วยังเก็บเงินไม่ได้อีกแสดงว่าคุณยังมีรายจ่ายฟุ่มเฟือยต้องลดมันให้ได้
(ทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วถึงจะเห็นรายจ่ายที่เกินความจำเป็น)

หากเลือกใช้วิธีนี้แล้วยังไม่ประหยัดเก็บออมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินอีก
- คราวนี้ก็ไม่มีใครช่วยคุณได้


ถ้าเก็บเงินไม่ได้จริงๆ
ลองดูวิธีลดค่าใช้จ่าย เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายและเก็บเงินได้บ้าง



-----------------------------------------------

การเจรจาแฮร์คัต - การขอส่วนลด
ไม่จำเป็นต้องได้ส่วนลดเท่ากันทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าคุณต่อรองได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าคุณพอใจก็ตกลงไปเถอะจะได้หมดหนี้เป็นรายๆไป
แต่คุณไม่ควรจ่ายมากกว่ายอดหนี้ที่คุณเริ่มหยุดจ่ายเด็ดขาด
และระหว่างเจรจาไม่ต้องส่งเอกสารให้ฝ่ายเจ้าหนี้ ห้ามจ่ายเงินเข้าไปก่อนเด็ดขาด
รอจนได้เอกสารยืนยันว่าจ่ายเท่านี้ภายในวันที่เท่านี้แล้วเป็นอันว่าหมดภาระหนี้สิน
มีลายเซ็นผู้รับมอบอำนาจครบถ้วน ค่อยจ่ายเงินเข้าบัญชีหนี้ของเราไป ห้ามจ่ายเข้าบัญชีอื่นเด็ดขาด

----------------------------------

สามารถเลือกใช้วิธีนี้คู่กับ FIRSTWAY OUT ก็ได้
โดยชำระขั้นต่ำหนี้ที่มีกับแบงก์ที่ใช้จ่ายเงินเดือน และ หนี้ กองทุน กยศ.
ส่วนหนี้ที่เหลือก็ใช้วิธี SECONDWAY OUT
วิธีที่ 3 THIRDWAY OUT

วิธีการนี้คือการรวมหนี้หลายแห่งให้เป็นหนี้ที่เดียว
เช่นมีหนี้บัตรเครดิต 10 รายการ จ่ายไม่ไหว
ก็เอาที่ไปจำนองแล้วเอาเอาเงินที่ได้มาไปจ่ายหนี้เก่าที่มีอยู่ทั้งหมด
แล้วตั้งหน้าตั้งตาจ่ายหนี้ที่จำนองที่ไว้ที่เดียว

เป็นวิธีที่ไม่อยากให้ใช้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
เพราะมันเป็นแค่การย้ายเจ้าหนี้
และเสี่ยงกับการเสียทรัพย์สินที่มีอยู่มากๆ
ควรจะยึดหลักที่ว่า
อย่าหาหนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่า
ให้ใช้รายได้จริงๆของตนเองในการสะสางปัญหาหนี้สินจะดีกว่า หมดหนี้แน่นอน


วิธีการนี้มีทั้งข้อดี และ ข้อเสีย(ซึ่งมากกว่าข้อดี)
ข้อดี คือ คุณไม่เสียเครดิต ไม่ต้องเครียดกับการทวงหนี้
แต่ข้อเสีย คือ คุณมีหนี้เพิ่มขึ้น
หนี้ 10 ที่ซึ่งมีดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมค่าปรับที่ลูกหนี้ควรได้ส่วนลด
รวมเป็นหนี้ที่เดียวแล้วคิดดอกเบี้ยอีกที จ่ายนานมากกว่าจะหมดหนี้

การใช้วิธีนี้ให้ได้ผลดีที่สุดคือใช้ควบคู่กับ secondway out
คือหยุดจ่ายรอเจรจาขอลดยอดหนี้ก่อน
แล้วค่อยเอาเงินที่ได้มาจากการจำนองไปจ่ายหนี้

(จริงๆแล้ว หยุดเก็บตังค์ได้เองโดยที่ไม่ต้องไปจำนองหนี้ด้วยซ้ำ)


การไปกู้เงินที่ใหม่หากได้เงินมาไม่พอจ่าย หนี้เก่าให้หมดภายในครั้งเดียวแล้ว "ก็ไม่ควรทำ" เพราะจะกลายเป็นว่าหนี้เก่าไม่หมด แล้วยังมีหนี้ใหม่เพิ่มมาอีก 1 รายการ

การไปกู้เงินเป็นกลุ่มแล้วค้ำประกันให้กันก็ไม่ควรทำเพราะเท่ากับว่าเราต้อง รับผิดชอบทั้งหนี้ในส่วนของเราและหนี้ของคนอื่นด้วย(เหมือนเอาเชือกมาผูกคอ ตัวเองไว้ จะถูกรัดคอตายวันไหนก็ไม่รู้)


สิ่งที่ไม่ควรทำมากที่สุดคือได้เงินก้อนมา แล้วเอาไปจ่ายขั้นต่ำบัญชีหนี้เดิมทุกบัญชีเพื่อรักษาเครดิต การทำแบบนี้จะหมุนเงินได้ไม่นานนัก แล้วก็จะกลายเป็นว่าหนี้เก่าไม่หมดแล้วยังมีหนี้ใหม่เพิ่มมาอีก 1 รายการ แถมเป็นหนี้ก้อนใหญ่ด้วย
การแฮร์คัท

ขยายความเรื่องการแฮร์คัต
การ hair cut สามารถทำได้ตลอดเวลาเมื่อลูกหนี้พร้อม
เมื่อมีเงินมากพอจะจ่ายหนี้
เราสามารถโทรไปเจรจาขอจ่ายหนี้แบบก้อนเดียวปิดบัญชีได้
เราไม่จำเป็นต้องบอกว่าเรามีเงินอยู่เท่าไหร่
แต่เราถามได้ว่าถ้าจะจะจ่ายทีเดียวเพื่อปิดบัญชีหนี้จะให้จ่ายเท่าไหร่
จะลดให้เท่าไหร่ พยายามต่อรองให้ลดได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากไม่ยอมลดเลย ก็ปล่อย ไปจ่ายรายที่ลดให้สูงสุดก่อน

--------------------------------------

มีคำถามถามเสมอว่าจะขอแฮร์คัทได้มากที่สุดเท่าไหร่

อันนี้ก็ขอบอกว่าขึ้นอยู่กับการเจรจาของแต่ละคน ระยะเวลาในการหยุด และอายุความ ฯลฯ
ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัว ไม่มีมาตรฐาน
ว่าจะได้ลด 30% 20% 50% 40% มันขึ้นอยู่ที่มูลหนี้ อยู่ที่เทคนิคการพูด
อยู่ที่ความใจดีของแบงค์แต่ละแห่ง..ซึ่งไม่เท่ากัน

หากคุณคิดว่าคุณพอใจกับส่วนลดนั้นแล้วก็ตกลงไปเถอะ
อย่าไปเปรียบกับคนอื่นว่าได้มากหรือน้อยกว่าคุณเลย
แค่คุณจ่ายไม่เกินยอดหนี้ที่คุณจ่ายครั้งสุดท้ายก็พอแล้ว
เช่นตอนหยุดจ่าย หนี้ 10,000 บาท หยุดไป 1 ปี หนี้เพิ่มเป็น 15,000
คุณก็ตั้งต้นเจรจาขอส่วนลดจากยอด 10,000
พยายามขอส่วนลดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะต่อรองได้
และคุณจะต้องไม่จ่ายเกิน 10,000 บาท

--------------------------------------

การ hair cut มีทั้งจ่ายครั้งเดียว หรือ จ่าย 2 งวด 3 งวด อยู่ที่การเจรจาทั้งหมด
ทุกอย่างอยู่ที่ความพอใจ ทั้ง 2 ฝ่าย
ก่อนจ่ายเงินปิดบัญชีต้องขอหนังสือยืนยันทุกครั้ง
โดยถ้ามาจากสำนักกฎหมายต้องมีหนังสือมอบอำนาจ
หรือ แสดงว่า แบงค์เจ้าของบัตรรับทราบเงื่อนไขแล้ว

--------------------------------------

ขอย้ำว่าที่สำคัญคือเมื่อเจรจาขอลดยอดหนี้ได้แล้ว
ลูกหนี้จะต้องได้เอกสารยืนยันการลดยอดหนี้จากสำนักงานกฎหมายที่เราคุยด้วยก่อน
ในเอกสารจะต้องมีข้อความบอกว่าเมื่อจ่ายแล้วเป็นว่าหมดหนี้
เมื่อได้รับเอกสารแล้วจะต้องมีการโทรสอบถามข้อมูลจากธนาคารก่อนว่าลดหนี้ให้จริง
จากนั้นค่อยจ่ายเงินไป และเมื่อจ่ายแล้วให้เก็บเอกสารการลดยอดหนี้ใบจ่ายเงินไว้
จนเราจะได้เอกสารยืนยันจากแบงก์ว่าหมดหนี้แล้วจริงๆ

-----------------------------------------

*** และหากมีการบอกให้จ่ายก่อน 500 บ้าง 1000 บ้าง แล้วจะดำเนินการให้
ก็อย่าได้ทำเป็นเด็ดขาด เพราะอาจเป็นหลอกให้จ่ายทั้งๆที่ไม่มีการลดหนี้ให้จริงๆ
รอไปจ่ายทีเดียวตอนได้รับเอกสารเลยดีกว่า


*** และตอนเจรจาไม่จำเป็นต้องแฟกซ์หรือส่งอะไรไปให้เจ้าหนี้ทั้งนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น